Haijai.com


ก๊าซในลำไส้


 
เปิดอ่าน 8663

ก๊าซในลำไส้

 

 

ก๊าซที่มีมากกว่าปกติในลำไส้ทำให้เราแน่นท้อง อึดอัดและเรอหรือผายลมมากกว่าปกติ การผายลมมากกว่าปกติในสถานที่สาธารณะอาจจะทำให้เสียหน้า เกิดความทุกข์ใจ กระอักกระอ่วนใจได้มาก เช่น ผายลมในขณะที่อยู่ในห้องประชุมเงียบๆ บางคนพยายามไม่ให้มีเสียง ฝืนเม้มไว้ แต่กลับทำให้เสียงแหลมดังมากขึ้น บางคนผายลมมีกลิ่น ทำให้คนรอบข้างรังเกียด ก่อให้เกิดความทุกข์ไปทั่ว ปัญหาก๊าซมากในลำไส้จึงมีความสำคัญและต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

 

 

ก๊าซในลำไส้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ก๊าซในลำไส้เป็นสิ่งที่ปกติ เกิดขึ้นได้ในทุกคน การเรอหรือผายลมก็เป็นวิธีธรรมชาติที่ใช้กำจัดก๊าซที่มีมากเกินไป เมื่อเรากลืนน้ำลายหรือกลืนอาหารทุกครั้ง จะมีอากาศโดนกลืนลงไปด้วย อากาศที่โดนกลืนลงไปเป็นไนโตรเจนเสียเป็น ส่วนมากไนโตรเจนถูกดูดซึมโดยลำไส้ได้ช้า และถูกกำจัดออกทางปอดได้ช้ากว่าก๊าซอื่นๆ ทำให้เหลืออยู่ในลำไส้นาน จนเกิดปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อ เรอและผายลมมาก

 

 

“เราต้องรู้จักสังเกตอาหารอะที่ไม่ถูกกับเราบ้าง เช่น บางคนกินถั่วแล้วผายลมมาก ในขณะที่บางคนกินผักบางอย่างแล้วเกิดก๊าซในลำไส้มาก ที่มีกล่าวถึงในตำราบ่อยๆ เช่น ข้าวกล้อง มันฝรั่ง หอม บรอคโคลี แตงกวา ผัก กะหล่ำ กะหล่ำดอก ผลไม้หรือน้ำผลไม้บางอย่าง เป็นต้น”

 

 

การที่มีก๊าซในลำไส้มากในคนปกติส่วนใหญ่ เกิดจากการกลืนอากาศลงไป ทุกครั้งที่เรากลืนจะมีอากาศถูกกลืนลงไปด้วย ก๊าซในลำไส้มากจึงอาจเกิดจากการกินมาก กินเร็ว การพูดมากทำให้คอแห้งต้องกลืนน้ำลายมาก บางคนมีความวิตกกังวลมาก เช่น เวลาจะเข้าสัมภาษณ์หรือขึ้นเวทีไปพรีเซ็นต์งาน จึงกลืนน้ำลายมาก ทำให้ท้องอืด บางคนมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารกลับเข้ามาในหลอดอาหาร ทำให้แสบหน้าอก แสบคอ ต้องกลืนน้ำลายลงไปล้างคอบ่อยๆ ทำให้กลืนอากาศลงไปมาก หลายคนติดนิสัยกลืนน้ำลายลงไปล้างคอบ่อยๆ ทำให้กลืนอากาศลงไปมาก หลายคนติดนิสัยเคี้ยวหมากฝรั่ง ทำให้มีน้ำลายต้องกลืนมากกว่าปกติ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การจะลดก๊าซในลำไส้วิธีหนึ่งคือการลดการกลืนอากาศ

 

 

วิธีลดการกลืนอากาศที่แนะนำ คือ

 

 เวลากินหรือดื่มควรทำช้าๆ อย่ากินพลางพูดพลาง เพราะจะทำให้กลืนน้ำลายมาก

 

 

 ดื่มเครื่องดื่มที่มีก๊าซให้น้อยลง เช่น น้ำอัดลม เบียร์ เพราะเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว เครื่องดื่มเหล่านี้จะไปปล่อยก๊าซออกในลำไส้ (แต่จริงๆ แล้ว ก๊าซที่อยู่ในน้ำอัดลมเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งดูดซึมเร็วและกำจัดออกทางลมหายใจได้รวดเร็ว เพราะความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายกับในบรรยากาศมีความแตกต่างกันมาก)

 

 

 หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งหรือการอมลูกอม ซึ่งทำให้มีการกลืนน้ำลายและอากาศมากกว่าปกติ

 

 

 การดื่มของเหลว ถ้าไม่ต้องการกลืนอากาศ แนะนำให้งดการใช้หลอดดูด ซึ่งทำให้ดูดและกลืนอากาศมากกว่าการดื่มด้วยปาก

 

 

 งดการสูบบุหรี่ เพราะเวลาสูงควันบุหรี่จะทำให้มีการกลืนอากาศและควันเข้าไปด้วย

 

 

 ฟันปลอมที่หลวมๆ จะทำให้เราต้องกลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติในเวลาที่เราดื่มหรือกินอาหาร จึงควรเช็คและแก้ไขปัญหาเรื่องฟันปลอมให้ปกติ

 

 

ก๊าซที่อยู่ในลำไส้และผายออกไปทางก้นนั้น นอกจากจะเป็นอากาศที่เรากลืนลงไปมากเกินแล้ว ยังมีก๊าซจากการย่อยการหมักสลายของกากสารอาหารในลำไส้ และการที่ท้องผูก (นานๆ ถ่ายอุจจาระที) มีการเคลื่อนตัวของกากอาหารช้า รวมทั้งก๊าซที่สร้างกลิ่นเหม็นของลมที่ผายออกมาด้วย

 

 

ปกติก๊าซในลำไส้ที่กลายไปเป็นลมที่ผายออกมานั้น เป็นก๊าซที่มาจากการย่อยสลายของอาหารเป็นส่วนมาก (แต่ถ้ากลืนอากาศมากเกินไปจนดูดซึมไม่ทัน ก็จะออกมาเป็นลมด้วย) โดยเฉพาะอาหารที่ย่อยยากจะเกิดมาก เช่น สารกากใยบางอย่าง หรืออาหารย่อยยากจำเพาะคนแต่ละคน เช่น นมวัว กลูเต็น อาหารพวกนี้เหลือมาจากการย่อย ทำให้เป็นเหยื่อของแบคทีเรียย่อยสลายในลำไส้ ซึ่งจะทำให้เกิดก๊าซได้มาก คนกินอาหารผิดสำแลงคืออาหารที่เราย่อยไม่ได้ จึงท้องอืดเนื่องจากมีก๊าซเกิดขึ้นมาก

 

 

คนเรามีการผายลมวันละ 10-20 ครั้ง การที่จะกำจัดการผายลมเสียเลยทำยากหรือทำไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมให้มันอยู่ในระดับต่ำได้ดังนี้

 

 

 ลดหรือหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซมาก เราต้องรู้จักสังเกตว่าอาหารอะไรที่ไม่ถูกกับเราบ้าง แต่ละปัจเจกบุคคลอาจจะไม่ถูกกับอาหารแตกต่างกัน เช่น บางคนกินถั่วแล้วผายลมมาก บางคนกินผลผลิตนมวัวแล้วไม่ย่อย บางคนกินผักบางอย่างแล้วเกิดก๊าซในลำไส้มาก เช่นที่กล่าวถึงบ่อยๆ ในตำราคือ ข้าวกล้อง บรอคโคลี ผักกะหล่ำ กระหล่ำดอก แตงกวา หอม มันฝรั่ง ผลไม้ หรือน้ำผลไม้บางอย่าง น้ำตาลเทียม (sorbitol, mannito) เป็นต้น การลดหรือเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซดังกล่าวไม่ควรทำแบบเคร่งครัดมาก อาหารบางอย่างที่มีสารอาหารที่ดีจะงดไปทีเดียวไม่ได้ อาหารบางอย่างเมื่อทำสุกแล้วจะไม่เกิดปัญหา อาหารที่มีปัญหาอาจจะกินให้น้อยลง หรือกินบ้างไม่กินบ้าง อีกอย่างหนึ่งเวลาจะไปประชุมก็งดเว้นไว้ก่อนก็จะดี

 

 

 ใช้ยาหรือสารเสริมอาหารที่ช่วยลดก๊าซในลำไส้ เช่น ยา alpha-galactosidase ซึ่งได้ผลกับคนไม่ย่อยถั่ว เอนไซม์ lactase ช่วยย่อยผลิตภัณฑ์จากนมวัว สารดูดก๊าซ เช่น simethicone ซึ่งมีขายตามร้านยา

 

 

 กินอาหารเสริมกากใย ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น (แม้ว่าบางตัวทำให้เกิดก๊าซ) สำหรับคนที่ไม่กินผักผลไม้ ควรเพิ่มกากใยอย่างช้าๆ ถ้าเพิ่มเร็วเกิน จะเกิดก๊าซมาก การกินอาหารมังสวิรัติ (เมื่อเปรียบเทียบกับการกินเนื้อแล้ว) ทำให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่นน้อยกว่า ใครอยากผายลมไม่เหม็นก็ควรใส่ใจในข้อนี้ด้วย

 

 

 หลีกเลี่ยงอาการท้องผูก โดยการกินผักผลไม้และดื่มน้ำให้เพียงพอ กินยาระบายธรรมชาติ เช่น มะขามแขกในบางโอกาส ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อในการเบ่งถ่ายแข็งแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะสภาวะท้องผูกทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้นานเกินไป เป็นบ่อเกิดของก๊าซและกลิ่นเหม็น

 

 

ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วยังเรอมาก ผายลมมาก ท้องอืด แน่นท้อง ก็ต้องปรึกษาแพทย์ เพราะโรคบางอย่างของลำไส้ เช่น กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคลำไส้อักเสบ ฯลฯ จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยให้ถูกต้อง แล้วจึงทำการรักษาให้ถูกทาง

 

 

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)