Haijai.com


การครอบแก้วบำบัด ศิลปะแห่งการรักษามากว่าพันปี


 
เปิดอ่าน 5103

การครอบแก้วบำบัด ศิลปะแห่งการรักษามากว่าพันปี

 

 

วิวัฒนาการของการแพทย์นั้นนับว่าพัฒนาไปได้อย่างไม่มีขีดสุด ประกอบกับมีการแพทย์ทางเลือกเข้ามาให้เราได้คิดได้ตัดสินใจกันง่ายขึ้น เลือกสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น โดยการคัพปิ้ง (cupping)  หรือ การครอบแก้ว ที่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

 

 

จริงๆ การครอบแก้วนั้นมีมานานหลายพันปีแล้วในประเทศจีน ซึ่งสมัยก่อนจะใช้กระบอกไม้ไผ่ในการครอบแทนถ้วยแก้ว แล้วใช้ความร้อนเป็นตัวทำให้เป็นสุญญากาศ แต่ปัจจุบันเราใช้ถ้วยแก้ว เนื่องจากสามารถทำความสะอาดได้ง่าย มีขนาดของถ้วยที่เท่าๆ กันมากกว่า ที่สำคัญคือ หาซื้อได้ง่าย และไม่ยุ่งยากในการดูแลรักษา จึงเป็นที่นิยมมากกว่า

 

 

ซึ่งถ้วยแก้วก็จะมีขนาดที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต้องการทำ มีตั้งแต่ถ้วยขนาด 6 ซม. 5.5 ซม. 4.5 ซม. 3.5 ซม. และขนาดเล็กจิ๋ว ใช้ครอบบริเวณแผ่นหลัง เอว สะโพก ต้นขา กลางหลัง ต้นคอ น่อง และใบหน้า (สำหรับรักษาโรค “เบลล์ พัลซี่” (Bell’s palsy) หรือ อัมพฤกษ์ ใบหน้า)

 

 

การครอบแก้วรักษาอะไรได้บ้าง

 

 ปรับสมดุล รักษาภูมิคุ้มกันของร่างกายและขับของเสียที่เข้ามาในร่างกาย เช่น ลม ความเย็น และความชื้น ซึ่งเมื่อขับออกแล้วจะทำให้ร่างกายกลับสู่สมดุล

 

 

 ทำให้เลือดและลมปราณภายในร่างกายไหลเวียนสะดวกขึ้น

 

 

 ทำให้ข้อต่อต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น เพราะการครอบแก้วจะช่วยขับลม ความเย็น และความชื้นที่คั่งค้างอยู่ตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อได้

 

 

 ในทางคลินิกยังสามารถใช้การครอบแก้วรักษาโรคปวดศีรษะ เวียนหัว โรคลมคั่ง ปวดเอว ปวดแขนขาได้ โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ

 

 

 สามารถดูดพิษและขับหนองได้ เพราะการครอบแก้ว ทำให้เกิดความดันภายในแก้วมากในการดูดหนองออกมา แต่วิธีนี้มักใช้ร่วมกับการปล่อยเลือด จึงจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น เมื่อดูดหนองออกก็จะทำให้ฝี หรือแผลบริเวณดังกล่าวหายได้เร็วขึ้น

 

 

 โรคอายุรกรรมภายใน : หวัด, ไอ, หนองใน, ปอด, หอบหืด, ใจสั่น, นอนไม่หลับ, ฝันเยอะ, ขี้ลืม, ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, สะอึก, ท้องอืด, ท้องเสีย, ท้องผูก, กระเพาะหย่อน, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เวียนหัว, ปวดสีข้าง, โรคซึมเศร้า, บวมน้ำ, ปัสสาวะขัด, ปัสสาวะไม่ออก, ปัสสาวะรดที่นอน, ฝันเปียก, เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, โรคร้อนชื้นต่างๆ เป็นต้น

 

 

 โรคอายุรกรรมภายนอก : ไฟลามทุ่ง (erysipelas) ฝีฝักบัว (Carbuncle) หนองที่เต้านม ไส้ติ่งอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ นิ่วทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

 

สีจากการครอบแก้วบอกอะไร

 

หลักจากการครอบแก้วแล้ว อาจมีรอยถ้วยกลมๆ เกิดขึ้นบริเวณของการครอบ ซึ่งแต่ละคนอาจมีสีที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะแสดงให้ทราบถึงสภาวะภายในว่ามีความชื้น ความเย็น  หรือความร้อนตกค้างหรือไม่ ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ และติดตามผลการรักษาได้ สียิ่งคล้ำมากเท่าไร ยิ่งมีความชื้นมาก แต่เมื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สีจะเริ่มจางลงไปภายใน 2-3 วัน นั่นแสดงให้เห็นถึงสุขภาพที่ดีขึ้น และหายจากอาการต่างๆ

 

 

 สีม่วงเข้ม มีความเย็นความชื้นอยู่ภายในสะสมอยู่ภายในกล้ามเนื้อหรือข้อที่มีปัญหา ซึ่งควรหลีกเลี่ยงความเย็น หรืออยู่ในห้องแอร์เย็นๆ มากเกินไป

 

 

 สีแดง สีแดงอ่อน แสดงให้เห็นถึงความชื้นอมร้อนภายในร่างกาย

 

 

 สีเขียว จะเจอในกรณีที่ติดสารเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ หรือยาเสพติด

 

 

ก่อนการครอบแก้ว

 

1.ตรวจพื้นฐานร่างกาย

 

 

2.สอบถามประวัติ

 

 

3.ฟังเสียง หรือวิเคราะห์กลิ่นเฉพาะตัว

 

 

4.จับชีพจร

 

 

5.การดูลิ้น

 

 

ข้อห้ามในการรักษาด้วยการครอบแก้ว

 

1.ผู้ป่วยโรคเลือด ที่ทำให้เลือดหยุดไหลยาก

 

 

2.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ผิวพุพองอักเสบ

 

 

3.ห้ามรักษาการครอบแก้วที่หน้าอกบริเวณหัวใจ

 

 

4.หญิงตั้งครรภ์ ห้ามรักษาการครอบแก้วบริเวณหน้าท้องและหลัง

 

 

ข้อควรระวัง

 

ในการครอบแก้วจะครอบทิ้งไว้ 10 นาที หากทิ้งไว้นานหรือแรงดูดของสุญญากาศแรงเกินไป อาจทำให้มีตุ่มน้ำพองใสเกิด หรือใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินไป จะทำให้ง่ายต่อการเกิดไฟลวกได้ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง

 

 

จริงๆ แล้วการครอบแก้วเป็นต้นตำรับของศาสตร์การแพทย์แผนจีน มาเป็นเวลาหลายพันปี แต่ ณ ปัจจุบัน หลายช่องทางที่นำวิธีนี้มาทำการรักษากันอย่างผิดๆ เราจึงควรสังเกตว่า แพทย์ที่ทำการรักษามีใบประกอบโรคศิลป์สาขาการแพทย์แผนจีนหรือไม่ เพื่อให้คำแนะนำ วิเคราะห์ วินิจฉัย ลับการรักษาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

 

 

แพทย์หญิงพรกมล ปัฐยาวัต

การแพทย์ทางเลือกเฉพาะทาง การฝังเข็ม และนวดแผนจีน

โรงพยาบาลกรุงเทพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)