Haijai.com


ธาตุเหล็ก


 
เปิดอ่าน 2819

ธาตุเหล็ก

 

 

ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการของร่างกาย แหล่งของธาตุเหล็กที่สำคํญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ นม ผัก และธัญพืช โดยธาตุเหล็กในรูปแบบฮีมจากเนื้อสัตว์จะถูกดูดซึมได้ดีกว่า สาเหตุหลักของการขาดธาตุเหล็กคือการได้รับจากอาหารไม่เพียงพอและการสูญเสียเลือด จึงควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การรับประทานธาตุเหล็กจากอาหารตามปกติ ไม่ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กเกิน สาเหตุหลักของการได้รับธาตุเหล็กเกิน คือ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยบางชนิดที่มีธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบร่วมกันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับปะรทานธาตุเหล็กเสริม

 

 

ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ขนาดของธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับ (Recommended Dietary Allowances : RDAs) แตกต่างกันไปตามสถานภาพของร่างกาย โดยทั่วไปเพศชาย เด็กผู้หญิงก่อนวัยมีประจำเดือน และสตรีหลังหมดประจำเดือนต้องการธาตุเหล็กเฉลี่ยวันละ 8-11 มิลลิกรัม ในเพศหญิงที่มีประจำเดือน สตรีมีครรภ์ ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ  โดยในสตรีมีครรภ์ต้องการธาตุเหล็กมากถึงวันละ 27 มิลลิกรัม ธาตุเหล็กมีจำหน่ายในรูปของยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งในรูปของเกลือเฟอร์รัสซัลเฟต เฟอร์รัสกลูโคเนต เฟอร์รัสซิเตรต และเฟอร์ริกซัลเฟต โดยธาตุเหล็กในรูปเฟอรัสจะถูกดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กในรูปเฟอร์ริก

 

 

แหล่งของธาตุเหล็ก

 

ธาตุเหล็กสามารถพบในอาหารได้ 2 รูปแบบ คือ ในรูปแบบฮีม (heme) และรูปแบบที่ไม่ใช่ฮีม ธษตุเหล็กในพืชหรืออาหารเสริมธษตุเหล็ก มีธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมเป็นองค์ประกอบ พืชที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก ได้แก่ ถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ ช็อกโกแลต ผัก เช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง และธัญพืช ในขณะที่ธาตุเหล็กจากสัตว์อยู่ในรูปฮีม และรูปที่ไม่ใช่ฮีม อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เลือด ตับ นม ธาตุเหล็กในรูปแบบฮีม สามารถถูกดูดซึมได้ดีกว่าและยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กในรูปแบบไม่ใช่ฮีมได้ดีขึ้น นอกจากนี้สารอาหารบางชนิดยังมีผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก โดยวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ในขณะที่ไฟเตต (เป็นสารอาหารที่พบได้ในถั่ว) และแคลเซียมรบกวน การดูดซึมธาตุเหล็ก อย่างไรก็ตามการปรุงอาหารทำให้ผลรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กจากสารอาหารอื่นๆ ลดลง

 

 

ผลของธาตุเหล็กต่อสุขภาพ

 

ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนขนส่งออกซิเจนที่พบได้ในเม็ดเลือดแดง และยังพบได้ในไมโอโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งเหล็กและลำเลียงออกซิเจนแก่เซลล์กล้ามเนื้อ นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังจำเป็นแก่การเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย เนื่องจากสำคัญต่อการทำงานของเซลล์ การสังเคราะห์ฮอร์โมนและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

 

 

ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กในปริมาณเพียงเล็กน้อยจากการถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ การผลัดเซลล์ผิวหนังและการมีประจำเดือน ปกติระดับธาตุเหล็กในเลือดจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเฮปซิดิน (hepcidin) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการดูดซึมและการกระจายธาตุเหล็กไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย การขาดธาตุเหล็กมีสาเหตุหลักมาจากการได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ และการเสียเลือด ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้ที่บริจาคโลหิตบ่อย ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร หรือเคยได้รับการผ่าตัดทางเดินอาหาร และผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว การขาดธาตุเหล็กในระยะไม่รุนแรงจะไม่แสดงอาการ การขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรงจนธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายหมดลง จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาจแย่ลงหากมีภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดสารอาหารชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น  วิตามินบี 12 และโฟเลต อาการจากภาวะโลหิตจาง ได้แก่ มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร การรับรู้ระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานหรือสมรรถนะร่างกาย และการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

 

 

การได้รับธาตุเหล็กเกินขนาดเป็นอันตราย อาจถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตามการรับประทานธาตุเหล็ก จากอาหารตามปกติไม่ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กเกินขนาด การรับประทานธาตุเหล็กเกินกว่า 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน หน้ามืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับประทานตอนท้องว่าง นอกจากนี้ยังลดการดูดซึมสังกะสีจากทางเดินอาหาร ในกรณีที่รับประทานธาตุเหล็กมากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถทำให้ชัก การทำงานของระบบต่างๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต สาเหตุหลักของการได้รับธษตุเหล็กเกินขนาด คือ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบร่วมกัน โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้อาจพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดบางชนิด เช่น โรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย

 

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา

 

ธาตุเหล็กสามารถลดการดูดซึมยาบางชนิด เช่น levodopa (สำหรับโรคพาร์กินสัน) levothyroxine (สำหรับโรคไทรอยด์ต่ำ) และยายับยั้งการหลั่งกรด (proton pump inhibitors)

 

 

ข้อแนะนำ

 

การรับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ ทำให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กเพียงพอ โดยไม่ต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้ที่ต้องการรับประทานธาตุเหล็กควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชรก่อนรับประทาน และควรสอบถามถึงยาและโรคประจำตัวที่อาจทำให้ไม่สามารถรับประทานธาตุเหล็กได้

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

-Dietary Fact Sheet: Iron. Office of Dietary Supplements. National Institutes of Health. Reviewed April, 2014.

 

 

ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)