Haijai.com


ทำความเข้าใจใหม่เรื่อง ไข้หวัด


 
เปิดอ่าน 2800

เข้าใจเรื่องหวัดซะใหม่

 

 

จะมีโรคอะไรที่เราเป็นบ่อยได้เท่ากับโรคหวัด ฝนตกนิด แดดออกหน่อย ก็เป็นหวัดกันได้ง่ายๆ แต่โรคธรรมดาพื้นๆ ที่แม้แต่ยาสมัญประจำบ้านก็จัดการได้นี่แหล่ะ หลายคนก็ยังมีความเข้าใจและใช้ยากันแบบผิดๆ ทานยาดักโรคบ้าง ทานวิตามินซีป้องกันหวัดบ้าง ระวังมีผลต่อตับและไต แล้วจะหาว่าไม่เตือนนะจ๊ะ

 

 

ทำความเข้าใจใหม่เรื่อง ไข้หวัด

 

โดยปกติหวัดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการและประคับประคอง ไม่มีการรักษาเฉพาะ ยกเว้นไวรัสบางชนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ จะมียาจำเพาะ แต่จะทราบได้ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไม่ก็ต้องไปตรวจห้องปฏิบัติการพิเศษจึงจะรู้ แต่ไข้หวัดทั่วไปจะรักษาด้วยยา เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ เป็นต้น

 

 

ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่ง ก็ควรทานยาตามอาการนั้น ไม่จำเป็นต้องทานยาทุกตัว รักษาและทานยาตามอาการก็พอ เช่น มีน้ำมูกก็ทานยาลดน้ำมูก มีเสลดหรือเสมหะในลำคอก็ทานยาขับเสมหะ และการดื่มน้ำเยอะๆ สำคัญมาก เพราะน้ำเป็นตัวละลายเสมหะที่ดีที่สุด

 

 

หวัดไม่ได้มากับฝน

 

ฝนมีไวรัสหรือ?? จริงๆ แล้ว ฝนไม่ได้มีไวรัสซ่อนอยุ่ หวัดจึงไม่ได้มากับฝน แต่ไวรัสสะสมและตกอยู่บนพื้น เมื่อมีลมพัดก็ทำให้ไวรัส ฝุ่นละออง ลอยฟุ้งขึ้นมา และร่างกายสัมผัสถูกฝน ซึ่งจะทำให้อุณหภมิร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก โพรงไซนัส และโพรงจมูกจะลดลง ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าหากตากฝนแล้ว ควรรีบทำให้ร่างกายอบอุ่น อาบน้ำ สระผม เช็ดตัว เป่าผมให้แห้ง โอกาสเป็นหวัดก็จะลดลงด้วย

 

 

วิตามินซี กับ ไข้หวัด

 

เรามักจะชินหูกับคำที่ว่า “เป็นหวัดต้องทานวิตามินซีเยอะๆ หรือ “ถ้าไม่อยากเป็นหวัดต้องป้องกันด้วยวิตามินซี” หลายคนเชื่อว่าเมื่อทานวิตามินซีแล้วจะเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย สามารถช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ เป็นตัวผสานคอลลาเจนได้ดี แต่เรื่องของงานวิจัยจะเป็นอย่างไร ไปดูกัน

 

 

การทานวิตามินซีเพื่อป้องกันนั้น มีงานวิจัยหลายฉบับลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ว่า การทานวิตามินซีไม่สามารถป้องกันหวัดได้ แต่จะมีส่วนช่วยในผู้ที่เป็นหวัดอยู่แล้ว หากทานวิตามินซีมีผลทำให้ระยะการเป็นหวัดสั้นลงกว่าปกติเล็กน้อย หรือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นหวัดที่มีความเครียดสูง หรือผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างนักกีฬาที่มีการสูญเสียวิตามินเยอะๆ วิตามินซีจะช่วยได้ ซึ่งวิตามินซีเพื่อใช้ในการรักษาให้ระยะเวลาในการป่วยสั้นลงนั้น ต้องทานวันละ 1-3 กรัม หรือ 1,000-3,000 มิลลิกรัม การรับประทานผักผลไม้อย่างเดียวจึงยังไม่เพียงพอ

 

 

หยุดพฤติกรรมการรับประทานยาดักโรค

 

ไม่มีความจำเป็นต้องทานยาดักโรค เนื่องจากยาก็เป็นสารเคมีและการทานดักโรค อาจจะไม่มีประโยชน์ก็ได้ อาจทำให้ทำงานของตับและไตเสื่อมได้ ถ้ารับประทานโดยไม่จำเป็น ดังนั้น มีอาการจึงรับประทานจะดีที่สุด เช่น ไอมีเสมหะ ก็ทานยาละลายเสมหะอย่าง บรอมเฮกซีน (Bromhexine), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ยาขับเสมหะ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ร่วมการดื่มน้ำเยอะๆ หรือถ้าไอไม่มีเสมหะ ไอแห้งๆ เช่น เดกโทรเมโธเฟน (Dextromethorphan), โคดิอีน (Codeine) หรือใครที่มีน้ำมูก คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ที่อยู่ในยาสามัญประจำบ้าน แต่อาจมีผลข้างเคียงง่วงซึมได้ แต่มีข้อดีคือ ออกฤทธิ์เร็วหรือใช้ยาแก้แพ้ที่ไม่มีฤทธิ์ง่วงซึม เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทไทริซีน (Cetirizine) หรือใช้ยาพ่นจมูก เป็นต้น

 

 

นายแพทย์ไพศาล เตชะวลีกุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

โรงพยาบาลกรุงเทพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)