Haijai.com


ตำรายาจีน แก้โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง


 
เปิดอ่าน 11145

เปิดตำรายาจีน แก้โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง

 

 

ในตำราโบราณไม่มีการบันทึกชื่อโรคจมูกอักเสบเรื้อรังไว้ แต่เมื่อดูจากลักษณะอาการ การเกิด และการดำเนินโรคจะพบว่า ตรงกับโรคปี๋เยวียน หรืออาการคัดจมูก น้ำมูกไหลไม่หยุด และโรคปี๋ชิว หรืออาการคันจมูก จาม น้ำมูกไหล จึงสามารถใช้อาการของคนไข้มาวินิจฉัยตามศาสตร์แพทย์แผนจีนได้

 

 

โดยโรคจมูกอักเสบเรื้อรังจะมีอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก ประสาทรับกลิ่นทำงานลดลง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีน้ำมูกข้นเหนียวปริมาณมากและมีกลิ่น ซึ่งอาการคล้ายกับโรคปี๋เยวียนและปี๋ชิว

 

 

สำหรับการเกิดและการดำเนินของโรคจมูกอักเสบเรื้อรังตามหลักแพทย์แผนจีนนั้น มีคำอธิบายว่า

 

 

โรคจมูกอักเสบเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันไม่พอ ผนวกกับได้รับปัจจัยก่อโรคจากภายนอก แต่ไม่ได้รับการรักษา ทำให้ปัจจัยก่อโรควนเวียนอยู่ในร่างกาย

 

 

การดำเนินโรค คือ เมื่อร่างกายได้รับลมและความเย็นผ่านทางจมูก จะไหลไปสู่ปอด ทำให้ปอดถูกลมและความเย็นทำร้าย ขณะเดียวกันหากการกระจายลมปราณของปอดบกพร่อง ปอดจึงไม่สามารถกระจายความร้อนได้ และความร้อนจะไปทำร้ายถุงน้ำดี ซึ่งความร้อนจะเปลี่ยนลักษณะเป็นร้อนชื้น แล้วเคลื่อนที่ไปตามเส้นลมปราณขึ้นไปที่โพรงจมูก โดยความชื้นจะไปรวมกันอยู่ที่จมูก ส่วนความร้อนเคลื่อนที่ไปยังสมองทำให้มีอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก ประสาทรับกลิ่นทำงานลดลง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีน้ำมูกข้นเหนียวปริมาณมากและมีกลิ่น

 

 

จมูกอยู่กึ่งกลางใบหน้า เป็นอวัยวะโปร่ง หมายถึง รูจมูกโล่ง ทำให้หายใจสะดวก รับกลิ่นได้ดี แต่หากติดขัด หมายถึง รูจมูกอุดตัน หายใจไม่สะดวก ไม่ค่อยได้กลิ่น ซึ่งทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับจมูกได้

 

 

ดังนั้น จมูกจึงชอบความโปร่ง ไม่ชอบการติดขัด ส่วนศีรษะเป็นที่รวมของหยาง ใบหน้าก็เป็นหยาง จมูกซึ่งอยู่กึ่งกลางใบหน้า จึงเป็นอวัยวะหยาง อวัยวะหยางชอบอุ่น ไม่ชอบเย็น

 

 

อุ่น หมายถึง การทำให้หยางผ่านสะดวก เย็น หมายถึง การทำลายหยาง ซึ่งทำให้จมูกอุดตัน จมูกจึงชอบอุ่น ไม่ชอบเย็นอีกประการหนึ่ง จมูกเป็นอวัยวะมีโพรง จึงต้องโล่ง ถ้าจมูกโล่ง แสดงว่าร่างกายปกติ ถ้าเกิดการอุดตัน แสดงว่าเกิดโรค ดังนั้น จมูกต้องโล่ง ไม่อุดตัน

 

 

แต่หากพิษร้อนไหลเวียนขึ้นสู่ร่างกายส่วนบนและไปติดอยู่ที่อวัยวะหยาง จะหลอมรวมน้ำให้กลายเป็นเสมหะหรือน้ำมูก ทำให้จมูกอุดตันได้อีกเช่นกัน หรือหากพิษร้อนชื้นจากภายนอกมารวมกับความชื้นภายใน ก็จะไหลขึ้นไปอุดตันอวัยวะส่วนบน ทำให้เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวกได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าการทำงานหรือคุณลักษณะใดของจมูกที่ผิดปกติไป ก็สามารถทำให้จมูกอักเสบได้ทั้งนั้น

 

 

เมื่อนำการบันทึกเกี่ยวกับจมูกอักเสบที่มีในสมัยโบราณมารวมกับความรู้และการวิจัยของแพทย์แผนปัจจุบัน จะพบว่า แพทย์แผนจีนแบ่งโรคจมูกอักเสบตามพยาธิวิทยา เป็นอาการแกร่งและอาการพร่อง อาการแกร่งทำให้ปอดร้อน ถุงน้ำดีร้อน กระเพาะอาหารร้อน มักเกิดจากได้รับพิษลมร้อน พิษร้อนอบอ้าวหรือพิษร้อนชื้น ส่วนอาการพร่องทำให้ปอดพร่อง ม้ามพร่องและไตพร่อง

 

 

โรคจมูกอักเสบเฉียบพลันมักจัดเป็นอาการแกร่ง แต่โรคจมูกอักเสบเรื้อรังจะมีทั้งอาการแกร่งและอาการพร่องรวมกัน

 

 

ตำรับยาแก้โรค

 

แพทย์แผนจีนมีตำรับยาจีนโบราณที่ใช้รักษาโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง ได้แก่

 

1.ตำรับปี๋เยวียนซูโค่วฝูเย่ มีตัวยาสำคัญ ดังนี้ ซินอี๋ ชางเอ๋อจึ หวงฉี ป๋ายจื่อ หวงฉิน ฉายหู เป็นต้น โดยใช้ซินอี๋และชางเอ๋อจึงเป็นยาหลัก ยาจะออกฤทธิ์ที่อวัยวะส่วนบนทำให้จมูกโล่ง หวงฉีและป๋ายจื่อช่วยเพิ่มพลัง ป้องกันหวัดและขับพิษขับน้ำมูก หวงฉินช่วยขับร้อนในปอด ฉายหูแก้หวัดและขับร้อน

 

 

ได้มีการวิเคราะหืตัวยาตามหลักแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่า ในตำรับนี้มีตัวยา 3 ชนิด ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและยับยั้งเชื้อโรค ได้แก่ ชางเอ๋อจึ ป๋ายจื่อ และหวงฉิน นอกจากนี้ตัวยาอื่นๆ ยังช่วยป้องกันภาวะ Hypersensitivity หรือภาวะภูมิไวเกิน และช่วยเสริมภูมิต้านทานอีกด้วย ผลงานวิจัยโดยคุณหมอหวางซูเฟิน สวีจงเฉียง หวางจื่อหนาน ระบุว่า การใช้ยาตำรับนี้ สามารถรักษาโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังในเด็ก 87 ราย โดยใช้เวลา 3 เดือน การรักษาเห็นผลชัดเจนถึงร้อยละ 95.4 และไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ

 

 

2.ตำรับฉวี่เยวียนทัง เป็นตัวยาจากตำราเปี้ยนเจิ้งฉีเหวิน ในยุคราชวงศ์ชิง เขียนโดยนายแพทย์เฉินซื่อตั๋ว ประกอบไปด้วยตัวยาซินอี๋ ตังกุย ฉายหู เป่ยหมู่ จือจึ เสวียนเซินรวมทั้งหมด 6 ชนิด

 

 

ในตำรากล่าวว่า ถุงน้ำดีและศีรษะเป็นอวัยวะหยาง ถุงน้ำดีเก็บความร้อนได้ไม่นาน จึงเคลื่อนความร้อนขึ้นสู่ศีรษะ ซึ่งบรรจุสมองอยู่ภายใน แต่สมองก็ไม่สามารถเก็บความร้อน ได้จึงขับออกทางจมูก ซินอี๋เป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่ถุงน้ำดีและช่วยดึงฤทธิ์ตังกุยไปบำรุงสมอง เสวียนเซินช่วยขับร้อนในสมอง รวมกับฉายหูและจือจึที่ช่วยขับร้อนในถุงน้ำดี

 

 

เมื่อไม่มีความร้อนอุดตัน ถุงน้ำดีก็สามารถรับการบำรุงได้ และจุดสำคัญในการรักษาโรคจมูกอักเสบ คือ การกระจายลมปราณของปอดให้ระบายออกทางจมูก จึงใช้ซินอี๋ที่มีฤทธิ์กระจายรสเผ็ด คุณสมบัติอุ่นเป็นตัวช่วย ซินอี๋จึงเป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคจมูกอักเสบ เสวียนเซินมีรสหวานขม คุณสมบัติเย็น ใช้ระบายร้อนที่ลอยวนเวียน ฉายหูและจือจึขับร้อนในตับและถุงน้ำดี เป่ยหมู่เป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่ปอด มีรสขม ช่วยขับพิษ รสหวานช่วยบำรุงและใช้ขับร้อน

 

 

ตำรับนี้มีความพิเศษคือ นำตังกุยมาใช้ในปริมาณมาก เพื่อบำรุงสมอง โดยใช้การรักษาหลายอย่าง ทั้งวิธีขับ วิธีกระจาย วิธีระบาย และวิธีเพิ่ม เพื่อดับไฟในถุงน้ำดี แต่สมองยังมีพลัง ช่วยลดน้ำมูกและทำให้จมูกโล่ง

 

 

ดังนั้น ยาตำรับนี้เหมาะที่จะใช้รักษาโรคจมูกอักเสบเรื้อรังที่มีอาการคัดจมูกอย่างรุนแรง มีน้ำมูกสีเหลืองเขียว เหนียวข้นมีกลิ่นหรืออาจมีเลือดปน ลิ้นแดงหรือลิ้นเหลืองเป็นฝ้า อาจมีอาการกระสับกระส่าย เวียนศีรษะ รู้สึกขมในปากร่วมด้วย

 

 

ผู้ที่มีน้ำมูกสีเหลืองข้นปริมาณมาก ต้องเพิ่มตัวยาฮั่วเซียง เพ่ยหลาน  หยูซิงเฉ่า เพื่อละลายน้ำมูกข้น ขับร้อน และลดน้ำมูก ผู้ที่มีอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก ต้องเพิ่มตัวยาซี่ซิน ชางเอ๋อจึที่ออกฤทธิ์ที่อวัยวะส่วนบน ช่วยระบายการอุดตัน แก้คัดจมูก หากมีอาการปวดบริเวณหน้าผากหรือตามแนวคิ้ว ต้องเพิ่มตัวยาป๋ายจื่อ เก๋อเกิน ชวนซง ซึ่งช่วยเพิ่มการหมุนเวียนเลือด บรรเทาอาการปวด และหากอุจจาระแห้งแข็ง ต้องเพิ่มตัวยาตัวหวงเพื่อช่วยระบบ

 

 

แพทย์จีนด็อกเตอร์บักเฮง ลี ไท่ (อาจารย์เฮง หรือ Bach Hien Le Thi)

(Some images used under license from Shutterstock.com.)