Haijai.com


ภาวะอ้วนแฝง ภาวะอ้วนมีสาเหตุมาจากอะไร


 
เปิดอ่าน 5398

พุงนำนม ลดยังไง ก็ไม่ลงเสียที

 

 

ใครๆ ก็อยากมีหุ่นดีรูปร่างสวยงาม สาวๆ ก็อยากที่จะมีอกเป็นอกเอวเป็นเอว ไม่ใช่พุงนำนม ในขณะที่หนุ่มๆ ก็อยากที่จะมีหุ่นสมาร์ท มีซิคแพคไร้ไขมันตามร่างกาย ซึ่งในทุกวันนี้ความอ้วนกลายเป็นเรื่องสุดฮิตของหนุ่มสาวที่ไม่เพียงรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงาม ไม่เป็นที่ดึงดูดใจ หรือไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรความดันโลหิตสูง โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งเชื่อแน่ว่าไม่ว่าเกิดกับใครก็คงเป็นทุกข์อยู่ไม่ใช่น้อย หลายคนจึงพากันเข้าสถานบันลดน้ำหนัก เพื่อให้น้ำหนักที่ตีกิโลกลับลดลงอย่างรวดเร็ว บางคนก็เลือกสร้างวินัยในการใช้ชีวิต ทั้งการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ใครที่ได้ผลดีก็ดีไป แต่บางคนไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ได้ผลเสียที ทั้งที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างมีวินัยเต็มที่แล้ว ซึ่งอาการเหล่านี้มักเรียกว่า ภาวะอ้วนแฝง

 

 

ภาวะอ้วนมีสาเหตุมาจากอะไรกันบ้าง

 

องค์การอนามัยโลกให้นิยามของ “น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน” ว่า หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ มะเร็ง กระดูก เบาหวาน เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและปอด เป็นต้น โดยวัดจากการใช้ดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) ค่าน้ำหนักตัวปกติควรอยู่ในช่วง 18.5-24.9 แต่ถ้ามีค่า BMI มากกว่า 30 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งภาวะอ้วนส่วนใหญ่จะอ้วนแบบปฐมภูมิ (Primary Obesity) คือ การอ้วนแบบเราเห็นได้ชัดเจน ซึ่งมีสาเหตุจากพันธุกรรมและรับประทานอาหารมากเกินไป แล้วไม่มีการเผาผลาญหรือไม่ออกกำลังกาย ส่วนภาวะอ้วนที่พบเพียงเล็กน้อย มักมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะอื่น นำมาก่อนเรียกว่า อ้วนทุติยภูมิ (Secondary Obesity) เช่น โรคทางระบบสมองโรคทางต่อมไร้ท่อ ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

 

 

ภาวะอ้วนแฝง

 

มีภาวะอ้วนอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ภาวะอ้วนแฝง คือ บุคคลที่ควบคุมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายอย่างถูกวิธี มีวินัยและเต็มที่ แต่น้ำหนักกลับไม่ลดลงเลยแม้แต่น้อย หรือลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะมีสาเหตุแฝงที่ซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้เกิดภาวะอ้วนโดยไม่รู้ตัว ว่ามาจากสาเหตุอะไร โดยการแพทย์แผนปัจจุบันไม่จัดว่าเป็นโรค เป็นเพียงภาวะบกพร่องหรือแปรปรวนเท่านั้น แม้สาเหตุที่อ้วนแฝงจะดูไม่รุนแรง แต่เชื่อแน่ว่า ส่งผลต่อจิตใจและร่างกายผู้อยากควบคุมน้ำหนัก หรือมีหุ่นสวยเหลือเกิน

 

 

สาเหตุของภาวะอ้วนแฝง

 

สำหรับสาเหตุของภาวะอ้วนแฝงนั้น มีหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งผู้ที่ประสบกับปัญหาภาวะอ้วนอาจคาดไม่ถึง เพราะคิดว่าสาเหตุเหล่านั้นไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ เมื่อไม่ใส่ใจจึงมองข้ามสาเหตุเหล่านั้นไป และแก้ไขอย่างไม่ถูกจุด จึงทำให้ภาวะอ้วนยังอาศัยเชื้อร้ายทำลายจิตใจคุณต่อไป ดังนั้น ลองมาสังเกตตัวคุณว่ามีอาการหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากรู้เร็วก็จะแก้ปัญหาได้เร็วตามมาเช่นกัน

 

 

ไทรอยด์ต่ำแฝง

 

ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหารและออกซิเจน เพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย รวมทั้งยังนำสารอาหารไปใช้ หรือเผาผลาญนั่นเอง จึงส่งผลโดยตรงต่อภาวะความอ้วน จัดว่าพบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุมาจากต่อมไทรอยด์ที่สร้างฮอร์โมนไม่พอใช้หรือร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้เต็มที่ โดยมักจะพบว่าน้ำหนักไม่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร เช่น การที่รับประทานน้อยแต่กลับอ้วนขึ้น หรือการควบคุมอาหารแต่น้ำหนักก็ไม่ลดลง รวมทั้งอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองตื้อ ซึมเศร้า ขี้ลืม ท้องผูก ผิวแห้ง ขี้หนาว มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยตามข้อบวมตามเปลือกตาหรือนิ้วมือ ซึ่งสามารถตรวจสอบอาการของโรคได้ โดยการตรวจเลือดดูค่าไทรอยด์ฮอร์โมนและฮอร์โมนต่างๆ ที่สัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ และค่าไขมันในเลือด ถ้าผลออกมาว่ามีภาวะนี้สามารถรักษาได้โดย การกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนชดเชย และเสริมการรักษาด้วยการซ่อมแซมเซลล์เฉพาะจุด เพื่อฟื้นฟูเซลล์ให้กลับมาเป็นปกติได้ ร่วมกับการใช้สารอาหารที่มีสารออกฤทธิ์ที่สามารถปรับร่างกให้เข้าสู่ภาวะสมดุล ที่สำคัญต้องปรับการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เพื่อให้อาการทุกอย่างหายเป็นปกติ

 

 

ภูมิแพ้อาหารแฝง

 

อาการนี้เป็นอาการของการแพ้อาหาร และไม่ได้แสดงอาการแพ้ออกมาอย่างทันที แต่จะสะสมจนกลไกการทำงานของร่างกายเกิดการอักเสบ ซึ่งจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ และระบบประสาท โดยเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าแพ้อาหารชนิดใด หนึ่งในนั้นอาจเป็นอาหารที่เราชื่นชอบมากที่สุดก็เป็นได้ เพราะกว่าจะแสดงอาการแพ้ก็หลังจากรับประทานไป 1-3 วันไปแล้ว โดยจะแสดงอาการที่หลากหลาย เช่น ท้องอืด มีแก๊สในท้องมาก ลำไส้อักเสบ ผื่นแพ้ขึ้นตามใบหน้าและลำตัว สิวเรื้อรัว หน้าบวมตึงนั่นก็เพราะลำไส้ไม่ดูดซึมสารอาหารที่รับประทานเข้าไป จึงก่อให้เกิดการอักเสบของลำไส้ และหากปล่อยไว้นานวันสารก่อการอักเสบที่เกิดขึ้น ก็จะกระตุ้นเซลล์ไขมันให้เกิดการสะสมไขมันมากขึ้น และเซลล์ไขมันเองก็ยังสามารถสร้างสารสื่อการอักเสบผสมโรงเข้าไปอีก ทำให้ค่อยๆ อ้วนขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงนำมาสู่ภาวะอ้วนแฝงในที่สุด หากพบอาการน่าสงสัยเหล่านี้ สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง โดยการสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองหลังรับประทานอาหาร แล้วจดบันทึก

 

 

ซึ่งดูจะทำได้ยากในความเป็นจริง ดังนั้น จึงอาจใช้ทางการแพทย์ในการตรวจโรคได้ด้วยการตรวจเลือด โดยแพทย์จะทำการตรวจสอบว่าแพ้อาหารชนิดใด เมื่อทราบก็ต้องระมัดระวังการเลือกรับประทานอาหารให้ดี พยายามลดและหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ซึ่งหากพบว่าเป็นภูมิแพ้อาหารแบบแฝง ควรงดอาหารชนิดที่แพ้นั้นเป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้ร่างกายได้กำจัดอาหารเหล่านั้นออกไปได้หมดก่อน แล้วจึงจะทดสอบอาการแพ้อีกครั้งหากปกติ ก็สามารถกลับมารับประทานอาหารชนิดนั้นได้อีกตามปกติ และควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานด้วยการหมุนเวียนหมู่อาหาร ไม่รับประทานอาหารแบบเดิมซ้ำทุกวัน

 

 

สารพิษหรือสารโลหะหนักเป็นพิษในร่างกาย

 

ปัจจุบันอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไปมักมีสารแปลกปลอมต่างๆ เจือปนอยู่ เช่น สารพิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง สารปรุงแต่งสี สารกันบูดสีสังเคราะห์ รวมทั้งอากาศที่หายใจ น้ำที่ดื่ม หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น ของทอดที่อุดมไปด้วยไขมัน ไม่รับประทานผักและผลไม้ ทำให้ได้รับสารไม่ครบถ้วน อีกทั้งเมื่อไม่มีการออกกำลังกายหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมายรวมทั้งภาวะอ้วนด้วย ซึ่งสารแปลกปลอมเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ไม่สามารถกำจัดหรือกำจัดไม่ทัน สารพิษเหล่านั้นก็จะสะสมอยู่ตามเซลล์ไขมันที่อยู่รอบๆ ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งก็คือส่วนต่างๆ ตามร่างกาย เช่น หน้าท้อง ต้นขา สะโพก เหนือหัวเขา ต้นแขน ใต้คาง หนอกหลัง ปีกหลัง จึงทำให้การลดน้ำหนักที่แม้จะลดอย่างถูกต้องเพียงใด ก็ไม่เห็นผลอะไร หากพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อตรวจสอบโรค และสามารถรักษาได้ด้วยการล้างพิษ โดยใช้กรดอะมิโนผสมกับแร่ธาตุและน้ำเกลือ ที่สำคัญต้องมีวินัยในการดำเนินชีวิต ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร การพักผ่อน และการออกกำลังกายให้เพียงพอ หรือถ้าต้องการความรวดเร็วที่จะเห็นผลทางการรักษา ควรใช้วิธีการขจัดเฉพาะส่วน เช่น การดูดหรือฉีดสลายไขมัน

 

 

ความเครียดเรื้อรัง

 

ความเครียดและความวิตกกังวลจากการทำงาน หรือการเรียน การสอบ ที่มีการแข่งขันสูง อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว เมื่อใดที่เกิดความเครียดร่างกายก็จะปล่อยฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต และคอร์ติซอลนี้เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหาร

 

 

นอกจากนั้นยังกระตุ้นสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดความอยากรับประทานอาหาร ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งคอร์ติซอลยังทำให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายต่ำลง ทำให้อาหารหรือพลังงานที่รับประทานเข้าไป ถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมง่ายขึ้น ที่สำคัญเมื่อเครียดเป็นเวลานานหรือเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้มีอาการอ่อนล้า อ่อนเพลียจากภาวะต่อมหมวกไต ล้า ทำให้ต้องพึ่งอาหารที่ให้พลังงานเร็ว นั่นคือ น้ำตาลมากขึ้นตามไปด้วย จึงตามมาด้วยภาวะอ้วนโดยไม่สามารถคุมน้ำหนักได้ ในการรักษานั้น ควรลดความเครียดและออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยผลิตสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งสามารถต้านฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ หรืออาจใช้อาหารเสริมที่มีองค์ประกอบอุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ สารไฟโตนิวเทรียนท์หรือพฤกษเคมีหลายชนิดที่เข้าไปควบคุม หรือปรับสมดุลฮอร์โมนความเครียดนั้น ซึ่งพบว่าได้ผลดีในการลดหรือควบคุมน้ำหนักพอสมควร

 

 

การอดนอน

 

โดยปกติมีฮอร์โมนที่ควบคุมอาการหิวและอิ่มมี 2 ตัว ได้แก่ ตัวแรก “เกรลิน” ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการหิวและอยากอาหารมากขึ้น ในขณะที่ฮอร์โมนอีกตัว “เลปติน” จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปที่สมองว่าอิ่มแล้ว ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองจะทำงานประสานกัน โดยตรวจสอบซึ่งกันและกันอยู่เสมอ และเมื่อใดที่เราอดนอนก็จะทำให้ระบบนี้ทำงานได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยส่งผลให้ฮอร์โมนเกรลินเพิ่มขึ้น แต่ฮอร์โมนเลปตินลดลง ซึ่งเลปตินเป็นสารสื่อกับสมองเรื่องอิ่ม ดังนั้น ถ้าระดับเลปตินลดลงจะทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น แม้ว่าจะได้รับอาหารจนมีพลังงานเพียงพอแล้วก็ตาม จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากรับประทานมากขึ้นและไม่อิ่มเสียที นอกจากนั้นการอดนอนยังส่งผลต่อฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตให้หลั่งน้อยลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยสลายไขมันช่วยให้ร่างกายนำพลังงานจากอาหารไปเสริมสร้างโครงสร้างของร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าร่างกายสลายไขมันได้น้อย  และไม่สามารถนำพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไปใช้ได้ ก็จะกลายเป็นไขมันเกาะตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมา ดังนั้นวิธีรักษาก็คือการพักผ่อนให้เพียงพอ หรือใช้อาหารเสริมช่วยเพื่อปรับให้มีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น

 

 

ภาวะดื้ออินซูลิน

 

อินซูลินเป็นสารในร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอีกหนึ่งหน้าที่ของอินซูลินก็คือ การควบคุมระบบเผาผลาญไขมัน และควบคุมการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายด้วย ซึ่งหากเกิดภาวะดื้ออินซูลินขึ้น ตัวรับอินซูลินบนไขมันจะมีจำนวนน้อยลง และการทำงานของอินซูลินจะด้อยประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งภาวะนี้มักพบในผู้ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดี เช่น เน้นการรับประทานกลุ่มคาร์โบไฮเดรต แป้ง ข้าว น้ำอัดลม หรือขนมหวานมากเกินไป การไม่รับประทานมื้อเช้าแต่รับประทานมื้อดึก ไม่ออกกำลังกายและมีความเครียด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะกระตุ้นการสร้างอินซูลินให้มากขึ้น ทำให้เซลล์ไม่สามารถเผาผลาญไม่ได้หรือไม่ทัน ส่งผลให้อินซูลินทำงานได้อย่างด้อยประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดภาวะอ้วน การลดน้ำหนักก็ทำได้ยาก หากเกิดอาการนี้ วิธีรักษาคือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องรับประทาน การพักผ่อนและการออกกำลังกาย ในส่วนการรักษาทางการแพทย์คือ การใช้ยาเพิ่มให้การออกฤทธิ์ของอินซูลินดีขึ้น

 

 

ภาวะเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไม่สมดุล

 

เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ที่มีส่วนสำคัญในการสะสมไขมัน โดยเอสโตเจนจะช่วยควบุคมการสร้างคอเลสเตอรอล ไม่ให้เกิดเมือกไขมันอุดตันในเส้นเลือด หากมีไม่สมดุล ก็จะทำให้ไขมันสะสมได้มากขึ้น ทำให้อ้วนตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น ไขมันสะสมที่สะโพกและก้นเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ มักมีปัญหาเรื่องของอารมณ์ เซ็ง ซึมเศร้า ในขณะที่เพศหญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ผู้ชายจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งหากมีปริมาณพอเหมาะก็จะทำให้มีน้ำหนักตัวที่พอดี มีมวลกล้ามเนื้อ แต่ถ้ามีน้อยเกินไปก็จะทำให้เกิดภาวะอ้วนได้ ในส่วนของการรักษานั้นค่อนข้างซับซ้อน โดยต้องอาศัยการปรับสมดุลฮอร์โมน หากต้องการความรวดเร็วในการเห็นผลทางการรักษา ควรใช้วิธีดูดหรือฉีดสลายไขมันร่วมด้วย

 

 

ได้รับทราบสาเหตุที่แฝงอยู่ในวิถีหรือการดำเนินชีวิตของคุณ ที่จะทำให้เกิดภาวะอ้วนแฝงกันแล้ว ลองหันมาสังเกตอาการหรือพฤติกรรมของตัวเองว่า พบปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้หรือไม่ หากพบควรรีบไปปรึกษาและตรวจสอบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางการรักษา และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ทั้งเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และครบทุกหมู่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้การลดน้ำหนักที่คุณพยายามแก้ไขมาแสนนาน แต่ผลไม่ดีขึ้นนั้น กลับมาลดลงอย่างรวดเร็วพร้อมกับได้หุ่นที่ฟิตแอนด์เพิร์มกลับมาหรือดีขึ้นอย่างแน่นอน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)