Haijai.com


โตไปไม่โกง ปลูกฝังคุณธรรมเด็ก


 
เปิดอ่าน 38561

โตไปไม่โกง

 

 

พ่อแม่ควรปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ แก่ลูกตั้งแต่เด็ก หนึ่งในนั้นคือคุณธรรมด้านการเงิน เพื่อให้ลูก “โตไปไม่โกง” ซึ่งทำได้โดยการสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของการทำงาน ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าการมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นในการทำงานเป็นเรื่องน่าชื่นชม ไม่อายที่จะทำงานเก็บเงิน แต่ละอายที่จะรับเงินของคนอื่นมาเปล่าๆ เด็กจะสั่งสมแนวคิดเรื่องโตไปไม่โกง จากการสังเกตเห็นตัวอย่างที่ดี ได้รับการอบรมให้เหตุผลที่ถูกต้อง และลงมือทำตามด้วยตนเอง ที่สำคัญเด็กต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม พ่อแม่จึงต้องใช้เหตุผลในการอธิบายแทนการลงโทษสั่งสอนด้วยความรุนแรง หากเด็กต้องเผชิญกับเรื่องนอกบ้านที่ไม่ถูกต้อง พ่อแม่ต้องอธิบายให้เด็กเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำ และเห็นความสำคัญที่จะยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป

 

 

“โตไปไม่โกง” โครงการรณรงค์ที่เริ่มคุ้นหูคนในสังคม สังคมเริ่มตระหนักแล้วว่าหากไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ประเทศชาติคงพัฒนาต่อไปได้ยาก การจัดการปัญหาคอรัปชั่นมีหลายยุทธศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือการสร้างคุณลักษณะให้เกิดขึ้น จนเป็นรูปแบบพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยต้องเริ่มมาจากวัยเด็ก แม้จะมีข้อสังเกตว่าทุกเรื่องต่างเริ่มต้นที่เด็ก กว่าจะเห็นผลก็ต้องรอคนรุ่นใหม่ แต่ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงต้องทำกับคนที่โตแล้วด้วย อย่างไรก็ตามการปลูกฝังในเด็กก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องทำ

 

 

เรื่องโตไปไม่โกงเป็นการคาดหวังพฤติกรรมด้านคุณธรรมในเรื่องความซื่อสัตว์ด้านการเงิน ซึ่งสามารถสร้างร่วมไปกับการสร้างคุณธรรมของเด็กในด้านอื่นๆ โดยพื้นฐานของคุณธรรมในเด็กที่พ่อแม่คาดหวังคือ อยากเห็นเด็กอ่อนโยน มีเมตตา รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น สำหรับเรื่องโตไปไม่โกง พ่อแม่สามารถเริ่มต้นกับลูกได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ด้วยการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกรู้จัก

 

 รู้จักการทำงาน เด็กสามารถรับผิดชอบการทำงานที่เหมาะกับวัยของเขาโดยเริ่มจากงานที่เกี่ยวกับตัวเอง ฝึกให้เก็บของ ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว ให้ช่วยงานในครอบครัว เพิ่มการทำงานตามวัย ให้เห็นคุณค่าของการทำงาน พ่อแม่ต้องออกแบบการทำงานให้กับเด็ก ไปพร้อมกับการสนับสนุนชื่นชมในการลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง

 

 

 หัดทำงานหนัก เมื่อเริ่มโตต้องมีความอดทนที่จะทำงานหนัก มุ่งมั่นกับการทำให้สำเร็จ ภูมิใจที่ตัวเองสามารถทำงานจนสำเร็จ ในบ้านอาจฝึกการทำงานร่วมกันในพี่น้อง ทุกคนรู้ว่าการทำงานอย่างมุ่งมั่นเป็นเรื่องน่าชื่นชม ไม่ใช่เลี่ยงงานแต่อยากได้ผลตอบแทน

 

 

 เรียนรู้เรื่องการได้รับเงิน พ่อแม่เป็นคนสำคัญที่คอยให้คำแนะนำเรื่องการทำงานให้สำเร็จ และอาจให้ค่าตอบแทนในการทำงาน ให้เด็กเรียนรู้เรื่องการได้รับเงิน การใช้เงินให้เป็น รู้จักวางแผนการใช้เงิน ไม่รับเงินคนอื่นมาเปล่าๆ ถ้าเด็กมีความอยากได้ของ ฝึกให้เรียนรู้ที่จะเก็บเงินเพื่อให้ได้ของ ไม่อายที่จะทำงาน แต่ละอายที่จะเอาเงินหรือของของคนอื่น

 

 

 สร้างพลังให้อยากทำงาน รับผิดชอบตัวเอง การลงโทษไม่ช่วยมากนักในเรื่องการฝึกให้รักงาน อาจทำให้เด็กกลัว และหลบเลี่ยงไม่ให้รู้ว่าแอบโกง ความเข้าใจ พูดคุยสนับสนุนให้ทำงานจะช่วยได้มากกว่า  การสร้างพลังทางบวกช่วยสร้างความสำนึกในด้านบวกให้กับเด็ก

 

 

 มีความนับถือตัวเอง สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เป็นคนเปิดเผย เชื่อมั่นในการมุ่งมั่นด้วยตนเอง พ่อแม่ต้องมีความนับถือในตัวลูก ชื่นชม ส่งเสริมให้เขาดูแลตัวเอง ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่รู้สึกว่าด้อยกว่าในเรื่องของวัตถุ

 

 

 สอนให้รู้ทุกพฤติกรรมมีผลตามมา ทำอะไรก็ตามต้องรู้ตัวเองตัวเอง รู้ผลที่จะเกิดตามมา หากผิดพลาดไป สอนด้วยเหตุผลให้แก้ไขตนเอง ไม่ทำผิดพลาดซ้ำๆ หรือเข้าข้างตัวเองเพื่อจะไม่รู้สึกผิดเวลาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

 

การสอนทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความรู้สึกของพ่อแม่ที่ตั้งใจจะส่งไปยังความรู้สึกของลูก ลูกรับรู้ถึงความตั้งใจที่ชัดเจน จนเหมือนเป็นกฎของครอบครัวที่ดำรงอยู่ด้วยความเคารพในความถูกต้อง หากมีสิ่งที่ท้าทายความเชื่อมั่น เรื่องการทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ ต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยกันแทนการตัดบทหรือการสอนแบบสั้นๆ ว่าเป็นเรื่องของกรรม แต่เป็นเรื่องผลของการกระทำที่ส่งผลต่อบุคคลในรูปแบบต่างๆ ในบ้านพ่อแม่ต้องให้เด็กได้รับความยุติกรรมที่เป็นผลจากการกระทำของตนเอง หากเผชิญกับเรื่องนอกบ้านที่ไม่ถูกต้อง อธิบายและสอนให้เด็กเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำ และเห็นความสำคัญที่จะยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง

 

 

เด็กที่จะสั่งสมแนวความคิดเรื่องไม่โกงอย่างมั่นคงจนโต จะผ่านการสังเกตเห็นตัวอย่างที่ดี ได้รับการอบรม สั่งสอน แนะนำให้เหตุผลที่ถูกต้อง ลงมือทำตามด้วยตนเอง ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ให้ความชื่นชม และที่สำคัญต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม พ่อแม่จึงต้องเป็นคนที่ใช้เหตุผลในการอธิบาย ไม่ใช้การลงโทษสั่งสอนด้วยความรุนแรง หรือปล่อยปละละเลยให้เด็กติดความสบาย สนใจแต่เรื่องของตนเอง หรือเอาแต่สั่งสอนด้วยคำพูดที่ตีกรอบความคิดของเด็ก โดยไม่เคยอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับเด็ก หรือไม่เคยฝึกลูกให้ลงมือทำ มีแต่เพียงคำสั่งที่เป็นคำพูด ในประสบการณ์ลูกอาจเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างจากที่พ่อแม่บอกอย่างสิ้นเชิง

 

 

เรื่องของคุณธรรมเป็นความตระหนักรู้จากภายในมั่นคงในตนเอง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม แค่คำบอกหรือคำโฆษณาคงไม่พอที่จะสร้างคุณลักษณะให้ติดตัวไปจนโต นอกจากการทุ่มเทสร้างประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้อย่างจริงจัง

 

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)