Haijai.com


ออกกำลังกายเสริมสมาธิ


 
เปิดอ่าน 4321

ออกกำลังกายเสริมสมาธิ

 

 

การออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะส่งเสริมสมรรถภาพทางกาย ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อแล้ว ยังส่งผลดีต่อการทำงานของสมองและจิตใจอีกด้วย ดังงานวิจัยจากในสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Sport and Health Science ปีนี้ ได้ศึกษาผลของการออกกำลังกายในเด็กวัยรุ่นจำนวน 32 คน อายุเฉลี่ย 10.75 ปี แบ่งเป็นเด็กที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น (ADHD) จำนวน 14 คน และเด็กปกติจำนวน 18 คน มาทำการทดสอบทักษะการรับรู้และคิดวิเคราะห์ (cognitive function) หลังจากออกกำลังกายบนจักรยานไฟฟ้า (cycle-ergometer) เป็นเวลา 30 นาที (โปรแกรมการออกกำลังกายประกอบด้วย การอบอุ่นร่างกาย 5 นาที การออกกำลังกาย 20 นาที และการคูลดาวน์ 5 นาที) หรือหลังจากดูสารคดีธรรมชาติเป็นเวลา 30 นาที

 

 

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายช่วยให้เด็กมีสมาธิและการประมวลผลข้อมูลดีขึ้น แต่ไม่เห็นถึงผลดีต่อทักษะในการวางแผน

 

 

งานวิจัยอีกงานที่ตีพิมพ์ในวารสารเดียวกันนี้ ก็ยังให้ผลที่สอดคล้องกันถึงผลดี ต่อการออกกำลังกายต่อผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น งานวิจัยนี้ได้นำนักศึกษาระดับวิทยาลัยจำนวน 20 คน อายุเฉลี่ย 21.75 ปี แบ่งเป็นนักศึกษาที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น 10 คน และที่ไม่ป่วยด้วยสมาธิสั้นอีก 10 คน การศึกษาเริ่มจากากรทำการทดสอบทักษะการรับรู้ และการวิเคราะห์ จากนั้นผู้เข้าร่วมการศึกษาออกกำลังกาย โดยการเดินบนลู่วิ่งสายพาน โดยเริ่มจากการอบอุ่นร่างกาย 5 นาที ตามด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิกในความแรงปานกลาง เป็นเวลา 30 นาที แล้วคูลดาวน์อีก 5 นาที แล้วจึงทำแบบทดสอบอีกครั้ง

 

 

ซึ่งผลปรากฏว่า นักศึกษาทั้งที่เป็นปกติและที่ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น สามารถทำคะแนนแบบทดสอบได้ดีขึ้น โดยนักศึกษาที่เป็นปกติจะได้ผลการทดสอบดีกว่า

 

 

การออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาอย่างแท้จริง เป็นกิจกรรมที่เป็นทั้งการป้องกัน และบรรเทาความผิดปกติ แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจออกกำลังกายด้วยวิธีใดๆ นั้น ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการออกกำลังกายวิธีนั้น โดยละเอียด โดยเฉพาะในผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มต้นออกกำลังกาย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)